โทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือ โทรทัศน์ดิจิตอล (อังกฤษ: Digital Television) หรือทีวีดิจิตอล คือการส่งผ่านของเสียงและวิดีโอโดยสัญญาณดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งความคมชัดของภาพและเสียง การส่งข้อมูลแบบนี้สามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบอนาล็อกในหนึ่งช่องสัญญาณ จึงเรียกได้อีกอย่างว่า Multicasting การส่งสัญญาณเป็นแบบดิจิตอลจึงทำให้ได้คุณภาพของภาพและเสียงดีกว่าด้วย เช่น โทรทัศน์ระบบ HDTV ตรงกันข้ามอนาล็อกก็ใช้กับสัญญาณโทรทัศน์อนาล็อก หลายประเทศจะเปลี่ยนการรับสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เพื่อออกอากาศโทรทัศน์แบบอนาล็อกได้ จึงใช้วิทยุคลื่นความถี่เดิม โทรทัศน์แต่เดิมใช้ระบบอนาลอก (analog) หรือเชิงเส้นทั้งในภาคการส่งสัญญาณและภาครับสัญญาณ
แต่ต่อมาเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางขึ้น จึงได้มีการนำระบบคอมพิวเตอร์นำมาพัฒนาแปรสัญญาณภาพและเสียงใช้ในการออกอากาศ เพื่อให้เกิดความคมชัดและมีจำนวนช่องสัญญาณที่มากขึ้น ดังนั้น จึงได้ปรับปรุงโทรทัศน์ให้ใช้ระบบดิจิตอลด้วย และเนื่องจากโทรทัศน์ใช้กันทั่วโลก การเปลี่ยนระบบจากอนาลอกเป็นระบบดิจิตอล จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนทั่วโลกตามไปด้วย ซึ่งคณะกรรมการสหภาพโทรคมนาคมสากล (ITU) ได้มีการกำหนดมาตรฐานดังนี้
๑.ระบบแพร่ภาพดิจิตอลผ่านดาวเทียม (DVB-S The Digital Video Broadcasting Satellite System)
๒.ระบบแพร่ภาพดิจิตอลผ่านสายเคเบิล (DVB-C The digital cable eleliverly system)
๓. ระบบแพร่ภาพดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T The Digital Terrestrial Television System)
กลไกการทำงานของโทรทัศน์ระบบดิจิตอลเป็นระบบการรับส่งสัญญาณภาพและเสียงที่มีข้อมูลที่มีการเข้ารหัสเป็นดิจิตอล ทีมีค่า “0” กับ “1” เท่านั้น โดยมีกระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำการแปลงสัญญาณภาพและเสียงให้เป็น ดิจิตอล มีการบีบอัดข้อมูล โดยทำการเข้ารหัสข้อมูล ก่อนที่จะทำการผสมสัญญาณข้อมูลคลื่นพาร์(Modulation) ข้อมูลดิจิตอลเหล่านี้เพื่อส่งผ่านตัวกลางไปสู่ผู้รับปลายทาง ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับโทรทัศน์ระบบอะนาล็อก เมื่อสัญญาณดิจิตอลถูกส่งมายังเครื่องรับโทรทัศน์ จะผ่านกระบวนการบีบอัดข้อมูลสัญญาณดิจิตอล โดย MPEG-2 หรือ MPEG-4 ทำการถอดรหัส หลังจากนั้นสัญญาณจะถูกส่งไปยังหลอดภาพ แล้วหลอดภาพจะยิงลำแสงออกไปยังหน้าจอโทรทัศน์ ทำให้หน่วยที่เล็กที่สุดของภาพที่แสดงบนจอภาพ(Pixel) ซึ่งในระบบ HDTV นั้นจะให้ภาพที่มีความละเอียดของ Pixel สูงกว่าโทรทัศน์ทั่วไปมาก จึงทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัด ละเอียด และไม่มีการกระพริบของสัญญาณภาพ ลักษณะการยิงลำแสง แบ่งได้ 2 แบบ คือ การสแกนภาพแบบสลับเส้น(Interlaced Scanning) และการสแกนต่อเนื่องเรียงไปทีละเส้นภาพ(Progressive Scanning)
มาตรฐานของโทรทัศน์ระบบดิจิตอล
๑) มาตรฐาน ATSC(American Advance Television System) โดยระบบโทรทัศน์ดิจิตอล ATSC ได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. ๑๙๙๔(พ.ศ. ๒๕๓๗) เพื่อใช้แทนที่ระบบโทรทัศน์สีอนาล็อก (National Television System Committee : NTSC) โดยคณะกรรมการ ATSC (Advance Television System Committee) ข้อกำหนดในการพัฒนาระบบใหม่นี้ คือ ต้องสามารถครอบคลุมพื้นที่การให้บริการ เมื่อวัดทั้งขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และจำนวนประชากรได้เทียบเท่ากับการให้บริการโทรทัศน์สี NTSC แบบดั้งเดิม โดยต้องไม่มีการรบกวนกันกับการให้บริการโทรทัศน์สี NTSC ที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ได้มีการทดสอบการให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอล ATSC แล้ว ผลที่ได้จากการทดสอบพบว่าเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งเนื่องจากมีการรบกวนระหว่างช่องสัญญาณความถี่เดียวกันต่ำ จึงสามารถเพิ่มช่องสัญญาณได้มากขึ้นและผู้ชมทางบ้านสามารถรับชมได้อย่างสะดวกเพราะใช้เพียงสายอากาศที่ติดตั้งบนหลังคา (roof-top) หรือสายอากาศแบบพกพาเคลื่อนย้ายได้(portable) ก็จะรับสัญญาณได้ดี
ระบบนี้เริ่มใช้งานได้จริงตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๙ (พ.ศ. ๒๕๔๒) ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้บริการ ATSC จำนวน ๑๐ ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง ระบบ ATSC จะใช้คลื่นความถี่ขนาด ๖ MHz ต่างจากของประเทศไทยที่ใช้คลื่นความถี่ขนาด ๘ MHz อย่างไรก็ตามมาตรฐานนี้สามารถปรับใช้กับคลื่นความถี่ขนาด ๗ หรือ ๘ MHz ได้
๒) มาตรฐาน DVB-T (Digital Video Broadcasting – Terrestrial) โดยระบบโทรทัศน์ดิจิตอล DVB-T ถูกพัฒนาขึ้นในทวีปยุโรป ในปี ค.ศ.๑๙๙๘(พ.ศ. ๒๕๔๑) เพื่อทดแทนโทรทัศน์สีอนาล็อกระบบ PAL&SECAM โดยองค์การ Digital Video Broadcasting Project (DVB) : ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สถานีวิทยุโทรทัศน์ และบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์
โทรทัศน์ดิจิตอล DVB-T ถูกออกแบบเพื่อให้สามารถครอบคลุมพื้นที่เขตบริการได้ดีทั้งในบริเวณที่ไม่มีคลื่นวิทยุรบกวนและในบริเวณที่มีคลื่นวิทยุรบกวน โดยเครื่องรับสามารถรับสัญญาณได้ดีไม่ว่าเครื่องรับสัญญาณจะอยู่กับที่หรือกำลังเคลื่อนที่อยู่ก็ตาม หากรับสัญญาณในเขตบริการที่ไม่มีคลื่นรบกวนจะสามารถรับสัญญาณได้ดีแม้ขณะเคลื่อนที่ โดยระบบถูกออกแบบให้มีความทนทานต่อสภาพการรับสัญญาณซ้ำซ้อนจากคลื่นวิทยุที่สะท้อนจากภูเขา อาคารหรือสิ่งก่อสร้าง และสามารถรับสัญญาณเดียวกันที่ส่งออกมาจากสถานีส่งหลายๆสถานีพร้อมกันได้
ระบบ DVB-T ที่ออกอากาศโดยใช้คลื่นความถี่ขนาด ๘ MHz จะมีความจุช่องสัญญาณสูงสุด ๓๑.๖๗ Mbit/s สามารถบรรจุช่องรายการโทรทัศน์ปกติได้ประมาณ ๑๕ ช่อง การเปลี่ยนผ่านจากระบบโทรทัศน์อนาล็อกในระบบ PAL ที่เป็นระบบของยุโรปไปสู่ระบบดิจิตอล DVB-T ที่เป็นมาตรฐานของยุโรปเหมือนกันจะสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ระบบ DVB-T เริ่มใช้งานจริงตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๘(พ.ศ.๒๕๔๑) ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบนี้จำนวนประมาณ ๑๒๐ ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้
๓) มาตรฐาน ISDB-T (Integrated Service Digital Broadcasting- Terrestrial) ระบบ ISDB (Integrated Service Digital Broadcasting) ได้รับการพัฒนาในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๙ เพื่อทดแทนระบบโทรทัศน์อนาล็อกระบบ NTSC โดยกลุ่มผู้พัฒนาได้แก่ ARIB(Association of Radio Industries and Business) และมีองค์การ Digital Broadcasting Expert Group (DIBEG) เป็นหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนระบบแก่บริษัทผู้ผลิตในอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้ระบบนี้แพร่หลายทั่วโลก โทรทัศน์ดิจิตอลระบบ ISDB-T มีความยืดหยุ่นสูง สามารถให้บริการไม่เฉพาะสัญญาณภาพและเสียงเท่านั้น แต่สามารถให้บริการสื่อผสม (Multimedia) อื่นๆ เช่น การกระจายข้อมูล (Data Broadcasting) ได้พร้อมกันโดยทั่วไปจะส่งสัญญาณโทรทัศน์ความคมชัดสูง(HDTV) พร้อมด้วยส่งสัญญาณ ISDB-TSB ที่เรียกว่า One-Sag สำหรับโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์วางตัก(Laptop) และเครื่องรับในยานพาหนะ
ระบบ ISDB-T เริ่มใช้งานจริงตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๐๓ (พ.ศ.๒๕๔๖) ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบนี้จำนวน ๕ ประเทศ คือ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในทวีปอเมริกาใต้อีก ๔ ประเทศ คือ ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา เปรู และ ปารากวัย ซึ่งได้มีการดัดแปลงมาตรฐาน ISDB-T ให้เหมาะกับสภาพความต้องการของตนเอง และใช้ชื่อเป็น ISDB-T International หรือ SBTVD นอกจากนี้ยังมีอีก ๗ ประเทศเลือกที่จะใช้ ISDB-T ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้ โดยใช้ระบบ ISDB-T International ตามแบบประเทศบราซิล
ระบบ ISDB-T และ ISDB-T International ที่ออกอากาศในประเทศญี่ปุ่นและอเมริกาใต้ จะใช้คลื่นความถี่ขนาด ๖ MHz ต่างจากของประเทศไทยที่ใช้คลื่นความถี่ขนาด ๘ MHz อย่างไรก็ตาม มาตรฐานนี้สามารถปรับใช้กับคลื่นความถี่ขนาด ๗ หรือ ๘ MHz ได้ ปัจจุบันมีประเทศมัลดีฟส์เพียงประเทศเดียวที่ประกาศใช้ ISDB-T โดยใช้คลื่นความถี่ขนาด ๘ MHz แต่ยังไม่มีการออกอากาศ
๔) มาตรฐาน ดีทีเอ็มบี (DTMB) ย่อมาจาก Digital Terrestrial Multimedia Broadcast เป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พัฒนาเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๑ (พ.ศ. ๒๕๔๔) เพื่อใช้งานเอง มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นโทรทัศน์ดิจิตอล ให้บริการภาคพื้นดินทั้งแบบรับอยู่กับที่ตามบ้านเรือนและแบบมือถือที่เคลื่อนที่ได้ และได้ประกาศระบบโทรทัศน์ดิจิตอลของตัวเอง เมื่อเดือนสิงหาคมพ.ศ. ๒๕๔๙
ระบบโทรทัศน์ดิจิตอล DTMB ภายในประกอบด้วย ๒ มาตรฐาน ที่เหมือนกับ DVB-T/ISDB-T คือ มาตรฐาน DTMB พัฒนาโดย Tsinghua University กรุงปักกิ่ง และอีกมาตรฐานที่เหมือนกับระบบ ATSC พัฒนาโดย Jiao Tong University นครเซี้ยงไฮ้ เนื่องจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ได้เลือกระบบใดระบบหนึ่งเป็นมาตรฐานเพียงระบบเดียว คือ DTMB ได้เชื่อมทั้ง ๒ มาตรฐานเข้าด้วยกัน มีผลให้ Set Top Box หรือเครื่องรับ ต้องสามารถรับสัญญาณและถอดรหัสสัญญาณได้ ทั้ง ๒ มาตรฐาน ระบบ DTMB ได้เริ่มให้บริการในฮ่องกงและมาเก๊า เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มให้บริการตั้งแต่การถ่ายทอดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ค.ศ.๒๐๐๘(๒๕๕๑)
ระบบ DTMB ที่ออกอากาศโดยใช้คลื่นความถี่ขนาด ๘ MHz จะมีความจุช่องสัญญาณสูงสุด ๓๒.๔๕๖ Mbit/s สามารถบรรจุช่องรายการปกติได้ประมาณ ๑๖ ช่อง ระบบนี้เริ่มใช้งานจริงตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๐๗ (พ.ศ.๒๕๕๐) ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบ DTMB จำนวน ๓ประเทศ คือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศกัมพูชาและประเทศลาว
๕) มาตรฐาน DVB-T2(Digital Video Broadcasting – second Generation Terrestrial) เป็นมาตรฐานที่องค์การ Digital Video Broadcasting Project (DVB) เริ่มพัฒนาปรับปรุงมาจากมาตรฐาน DVB-T ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๖(พ.ศ. ๒๕๔๙) ซึ่งเป็นมาตรฐานการส่งโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุด ที่มีประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด สัญญาณที่มีความคงทนและมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมีเทคนิคการเข้ารหัสสัญญาณที่มีประสิทธิภาพสูง ในการส่งโทรทัศน์ในคลื่นความถี่ที่ส่งสัญญาณภาพและเสียงและการบริการส่งข้อมูลที่ใช้สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์แบบเคลื่อนที่(Portable) และเครื่องรับโทรทัศน์แบบมือถือ(mobile) การใช้เทคนิคใหม่นี้ทำให้ DVB-T2 มีประสิทธิภาพอย่างน้อยสูงกว่า ๕๐% ของประสิทธิภาพการส่งโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลอื่นๆที่ใช้งานในโลก
ระบบ DVB-T2 ที่ออกอากาศโดยใช้คลื่นความถี่ขนาด ๘ MHz จะมีช่องสัญญาณสูงสุด ๕๐.๔ Mbit/s สามารถบรรจุช่องรายการโทรทัศน์ปกติได้ประมาณ ๒๕ ช่อง ระบบนี้เริ่มใช้งานจริงตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบ DVB-T2 ประมาณ ๓๘ ประเทศทั่วโลก โดยส่วนหนึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบ DVB-T อยู่แล้วและปรับเปลี่ยนไปเป็น DVB-T2 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่มากกว่า อีกส่วนหนึ่งเป็นประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบ DVB-T2 โดยตรง ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์อนาล็อกในระบบ Pal ไปสู่ระบบดิจิตอล DVB-T2 ที่เป็นมาตรฐานของยุโรปเหมือนกันก็สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว
ส่วนของประเทศอื่นๆ ได้เริ่มทดลองใช้งานหรือศึกษาว่าจะใช้ระบบใด เช่น ประเทศไต้หวันใช้ระบบอเมริกัน ATSC กลุ่มประเทศยุโรป สแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ใช้ระบบ ดีวีบี(DVB) สำหรับสิงคโปร์ติดตั้งและทดลองใช้ทั้ง ๒ ระบบ คือทั้งอเมริกัน(ATSC) และยุโรป (DVB) ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะค้าขาย ๒ ระบบนี้ ผ่านประเทศของตนเองสำหรับลูกค้าในภูมิภาคนี้ เพราะเล็งเห็นว่าลูกค้าสามารถจะไปดูตัวอย่างสถานีที่สิงคโปร์ได้ง่ายเพราะใกล้กว่าค่าใช้จ่ายถูกกว่า และสิงคโปร์ก็สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้อย่างสบาย และเนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีความประสงค์จะแข่งขันกับญี่ปุ่นจึงไม่นำระบบของญี่ปุ่นมาติดตั้ง
มาตรฐานระบบโทรทัศน์ดิจิตอลสำหรับภูมิภาคอาเซียน
ประเทศสมาชิกต่างๆในกลุ่มอาเซียนได้จัดให้มีการประชุม Asian Digital Broadcast (ADB) เพื่อหารือความร่วมมือด้านการกระจายเสียงและภาพระบบดิจิตอลหลายครั้ง จนกระทั้งได้มีมติเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อพัฒนา Digital Terrestrial Broadcasting ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในคราวประชุม Ninth conference of the ASEAN Ministers Responsible for Information(การประชุม AMRI ครั้งที่ ๙) เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยประเด็นหลักของการประชุมได้แก่ การหารือความร่วมมือด้านการกระจายเสียงและภาพระบบดิจิตอล (ASEAN Digital Broadcasting Cooperation)ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนการกระจายเสียงและภาพระบบดิจิตอลสำหรับภูมิภาคอาเซียนในภาพรวม โดยใช้ระบบ DVB-T เป็นระบบมาตรฐานดิจิตอลของอาเซียน และรับทราบกำหนดวันหยุดออกอากาศด้วยระบบอนาล็อก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และหารือความร่วมมือระหว่างอาเซียน-จีน-ญี่ปุ่น โดยในส่วนของจีนตกลงที่จะประสานความร่วมมือด้านสารสนเทศและสื่อสารมวลชนโดยเน้นที่การพัฒนาบุคคลากร การแลกเปลี่ยนข่าวและรายการโทรทัศน์ การจัดตั้งโครงข่าย ข้อมูลข่าวสารอาเซียน-จีน โดยจะเร่งพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและสื่อมวลชนระหว่างทั้งสองฝ่าย และจะได้มีการลงนามกันต่อไป สำหรับญี่ปุ่นตกลงที่จะขยายความร่วมมือในด้านการพัฒนาสื่อ การส่งกระจายเสียงและภาพระบบดิจิตอล การส่งกระจายเสียงระบบเตือนภัย และเหตุฉุกเฉินเน้นที่การพัฒนาบุคคลากรและเทคโนโลยีโดยจะมีการดำเนินงานแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและประสบการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมของการเปลี่ยนแปลงระบบกระจายเสียงและภาพของอาเซียน
กลุ่มประเทศสมาชิกต่างๆของอาเซียนได้จัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ ๑๐ ณ กรุงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๔-๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งไทยมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ร่วมเสนอแนวคิดแนวทางในการประชุมมาโดยตลอด สำหรับผลการประชุมคือ การร่วมมือกันต่อไปในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการสื่อสาร หรือการเปิดช่องทางให้ข่าวสารของอาเซียน ทั้งนี้ที่ประชุมกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง ๑๐ เห็นร่วมกันว่าควรจะนำเสนอความรู้เรื่องของอาเซียนให้ประชากรแต่ละประเทศรับทราบ ผ่านช่องทางของการสื่อสารที่แต่ละประเทศมีอยู่แล้ว และยังมีความร่วมมือเรื่องการเงินจัดตั้งกองทุน ซึ่งเบื้องต้นมีอยู่แล้ว ๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนครั้งที่ ๑๑ ประเทศมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนครั้งนี้มีประเทศคู่เจรจา ๓ ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ หรืออาเซียนบวก ๓ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการประชุมทำให้ได้รับทราบถึงท่าทีของทั้ง ๓ ประเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงทางด้านสื่อสารมวลชน โดยประเทศญี่ปุ่นได้นำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน บวก ๓ เรื่องการก้าวไปสู่โลกของดิจิตอลทีวี ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และในวันที่ ๒๔ กรกฎาคมพ.ศ.๒๕๕๔ ประเทศญี่ปุ่นก็จะมีทีวีระบบดิจิตอล ซึ่งทุกประเทศก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ เพราะประเทศในอาเซียนตกลงกันว่าการจะก้าวสู่ยุคดิจิตอลทีวีไม่ควรจะช้ากว่าปี พ.ศ. ๒๕๕๘
สำหรับประเทศไทยจะให้กรมประชาสัมพันธ์, บริษัท อสมท.จำกัด(มหาชน), กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดสัมมนาครั้งใหญ่เรื่องระบบดิจิตอลทีวี เพื่อให้การมีการนำความถี่มาใช้อย่างคุ้มค่า มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารมีความหลากหลาย เข้าถึงประชาชนในเขตชนบทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาเซียนบวก ๓ เห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันเป็น “Voice of ASIA” เพื่อจะบอกกับคนทั่วโลกว่าอาเซียนคิดอย่างไรในเรื่องต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
มติที่ประชุมรัฐมนตรีสารสนเทศ(AMRI) ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ ณ กรุงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เห็นชอบให้ประเทศสมาชิกอาเซียนกำหนดช่วงเวลายุติโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อกภายในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๓ และพัฒนาข้อกำหนดทางเทคนิคร่วมกันสำหรับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Set-Top Box) ที่จะใช้ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ราคาของ Set-Top Box ลดลงสำหรับประชาชนในกลุ่มอาเซียน
มติที่ประชุมรัฐมนตรีสารสนเทศอาเซียน(AMRI) ในการประชุม ครั้งที่ ๑๑ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ประชุมได้รับทราบว่าระบบ DVB-T2 ซึ่งเป็นมาตรฐานโทรทัศน์ดิจิตอลรุ่นที่ ๒ มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบ DVB-T และรับทราบถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบ DVB-T2 โดยตรง ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศเมียนมาร์ และประเทศเวียดนาม ได้ประกาศจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบ DVB-T2 และที่ประชุมฯ เห็นว่าภูมิภาคอาเซียนควรพัฒนาข้อกำหนดทางเทคนิคร่วมกันสำหรับอุปการณ์เครื่องรับโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณ(Set- Top Box) ระบบ DVB-T2 ที่จะใช้ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ราคา Set-Top Box ลดลงสำหรับประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนเนื่องจากมี Economic of Scale
นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีรายงานความคืบหน้าของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิตอลของประเทศสมาชิก โดยมีเป้าหมายที่จะยุติการออกอากาศระบบอนาล็อก(analog) ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๓
ความก้าวหน้าในกลุ่มประเทศอาเซียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบโทรทัศน์ดิจิตอล
๑) ประเทศบรูไน เริ่มให้บริการ SDTV ตามมาตรฐาน DVB-T ในปี พ.ศ.๒๕๕๐ และทดลอง HDTV มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ จะติดตั้งสถานีเครื่องส่งเพิ่มเติมในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งจะครอบคลุมประชากร ๙๕% ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗
๒) ประเทศเมียนมาร์ เริ่มดำเนินการให้บริการ SDTV ตามมาตรฐาน DVB-T ในปีพ.ศ.๒๕๕๐ และ DTV ครอบคลุม ๕๖%
๓) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จัดตั้ง Laos Digital TV Joint Venture ระหว่าง Laos National TV และบริษัทจากจีน เริ่มทดลองให้บริการ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ และอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านฯโดยมีนโยบายเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบ digital TV
๔) ประเทศมาเลเซีย
– ทดลอง DVB-T ในปีพ.ศ. ๒๕๔๙-มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (MPEG2 – MHP platform)
– ทดลอง HDTV โดยใช้ MPEG 4 encoding และ MHEG 5 middleware ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒
– เริ่มให้บริการพาณิชย์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓
๕) ประเทศเวียดนาม
– เลือก MPEG 2 สำหรับ SD และ MPEG 4 สำหรับ HD
– เริ่มให้บริการ SDTV ตามมาตรฐาน DVB-T ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ปัจจุบันปรับเป็นระบบดิจิตอลแล้ว ๓๒ sites จากทั้งหมด ๕๕ sites, ยอดขาย set-top กว่า ๒ ล้านเครื่อง
๖) ประเทศสิงคโปร์
– ประกาศเลือกรับมาตรฐาน DVB-T ในปี ๒๐๐๐
– เริ่มบริการ SDTV ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และ HDTV พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ (MPEG 4-H) วางแผนที่จะออกอากาศทุกช่องรายการในระบบ HD ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕
– ทดลอง DVB-H พ.ศ. ๒๕๕๑
– จะทดลอง DVB-T2 ในเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔
สำนักงานพัฒนาสื่อมวลชนสิงคโปร์ตกลงว่า เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป รายการโทรทัศน์เสรีทั้งหมดจะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้สัญญาณทีวีดิจิตอล ควบคู่ไปกับสัญญาณอนาล็อกที่ใช้ในปัจจุบัน ขณะนี้สิงคโปร์มีประชากรประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ ครอบครัวดูรายการโทรทัศน์ผ่านการชำระเงิน และมี ๔๐๐,๐๐๐ ครอบครัวใช้สายอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์รับชมรายการโทรทัศน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
จนถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๓ สิงคโปร์จะยกเลิกการส่งสัญญาณอนาล็อก และเปลี่ยนมาเป็นการส่งรายการด้วยระบบดิจิตอล ถึงเวลานั้นครอบครัวที่ใช้สายอากาศรับชมรายการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้น หากไม่ได้ซื้อบริการของเคเบิ้ลทีวี ก็จำเป็นต้องมีเครื่องรับสัญญาณดิจิตอลในเครื่องโทรทัศน์จึงจะสามารถรับชมรายการได้
๗) ประเทศอินโดนีเซีย
โทรทัศน์ดิจิตอลในประเทศอินโดนีเซีย เริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยช่องที่ทดลองออกอากาศ คือ ช่อง TVRI (ช่องทีวีช่องแรกของอินโดนีเซีย เป็นของรัฐบาล) และวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ก็เริ่มทดลองออกอากาศกันทุกช่อง ในเขตเมืองจาการ์ตา โดยเลือกระบบ DVB-T เป็นระบบทีวีดิจิตอล และเริ่มเปลี่ยนใช้ DVB-T2 ในไตรมาส พ.ศ. ๒๕๕๕ ในช่วงที่เริ่มทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอลในจาการ์ตา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ ผู้ผลิตทีวีได้ขนกันมาเปิดตัวโทรทัศน์ที่รองรับโทรทัศน์ดิจิตอลได้ในตัวหลายยี่ห้อ และมีประกาศเชิญชวนให้ใช้โทรทัศน์ดิจิตอลกัน
คลื่นความถี่โทรทัศน์ดิจิตอลอินโดนีเซีย ใช้คลื่นความถี่ ๔๗๘ MHz ถึง ๘๐๖ MHz (ใช้ตามคลื่นระบบอนาล็อกเดิม) โดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงคือ ๑) ๔๗๘ MHz ถึง ๖๙๔ MHz ใช้สำหรับโทรทัศน์ดิจิตอล และ ๒) ๖๙๔ MHz ถึง ๘๐๖ MHz ใช้สำหรับโทรทัศน์ดิจิตอลมือถือและใช้สำหรับโทรศัพท์มือถือคลื่น ๗๐๐ MHz (รองรับระบบได้ทั้ง 3G, 4G) ๑ ช่องสัญญาณโทรทัศน์ใช้คลื่น ๘ MHz
การดำเนินการทีวีดิจิตอลแบ่งเป็น ๔ ช่วง
ช่วงแรก (พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓) ทดลองออกอากาศ
ช่วงที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘) ออกอากาศดิจิตอลและอนาล็อกควบคู่กัน
ช่วงที่สาม (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐) เริ่มปิดระบบสัญญาณอนาล็อก บังคับให้ช่องย้ายมาอยู่ที่ เลขช่อง ๒๒ ถึง ๔๘ ให้เสร็จก่อนปิดทีวีอนาล็อก และเริ่มเอาคลื่น ๖๙๔ MHz ถึง ๘๐๖ MHz ไปใช้งาน
ช่วงสุดท้าย (พ.ศ. ๒๕๖๑) ทีวีอนาล็อกปิดครบทั่วประเทศ
๘) ประเทศกัมพูชา อยู่ระหว่างการทดสอบระบบดิจิตอลทีวี
๙) ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ประกาศใช้มาตรฐาน ISDB-T แต่มีคำสั่งให้ทดสอบระบบ DVB-T เพิ่มเติมและนำมาเปรียบเทียบ
สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในการประชุมครั้งที่ ๑๖/๒๕๕๕ วันจันทร์ที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีเห็นชอบรับรองให้มาตรฐาน DVB-T2 เป็นมาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial Television ) ของประเทศไทย เพื่อนำไปกำหนดในแผนการปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบรับส่งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ในประเด็นนโยบายการรองรับการพัฒนาการให้บริการรูปแบบต่างๆรวมถึง Emergency Warning System : EWS ที่ประชุมเห็นชอบว่ามาตรฐาน ISDB-T มีความสอดคล้องกับนโยบายนี้ในระดับดีมาก แต่มาตรฐานอื่นก็สามารถรองรับระบบ Emergency Warning System : EWS ได้ ดังนั้น แม้ว่าที่ประชุมไม่ได้รับรองมาตรฐาน ISDB-T แต่ก็ควรกำหนดให้มาตรฐานที่ได้การรับรองต้องมีระบบ Emergency Warning System : EWS และต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมในเรื่อง Emergency Warning System และมีการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ความพร้อมกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ซึ่งการพิจารณาความสอดคล้องของมาตรฐานวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลกับแนวนโยบายการกำหนดมาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของ กสทช. สรุป ดังนี้
๑.๑ มาตรฐาน DVB-T มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกว่ามาตรฐานอื่นๆดังต่อไปนี้
(๑) ความก้าวหน้าในเชิงเทคโนโลยี และความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบโทรทัศน์ในอนาคตเพื่อรองรับกับการพัฒนาของเทคโนโลยี อันอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน
(๒) การใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน (Spectrum Efficiency)
(๓) จำนวนช่องรายการโทรทัศน์ควรมีมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาการในกิจการโทรทัศน์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
(๔)จำนวนช่องรายการโทรทัศน์มีมากเพียงพอที่จะจัดสรรให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจผู้บริโภค มีช่องทางในการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
(๕)นโยบายภาครัฐ พันธกรณีระหว่างประเทศ และความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน
๑.๒ มาตรฐาน ISDB-T มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกว่ามาตรฐานอื่นๆคือ การรองรับการพัฒนาการให้บริการรูปแบบต่างๆรวมถึง Emergency Warning System : EWS
๑.๓ มาตรฐาน DVB-T2 และมาตรฐาน ISDB-T มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกว่ามาตรฐานอื่นๆคือความสามารถในการรองรับบริการได้หลากหลาย รวมถึง บริการที่มีความคมชัดมาตรฐาน (Standard Definition) และบริการที่มีความคมชัดสูง (High Definition)
๑.๔ มาตรฐาน DVB-T2 และมาตรฐาน DTMB มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกว่ามาตรฐานอื่นๆคือมีการใช้งานมากเพียงพอที่จะนำไปสู่การผลิตจำนวนมาก (Economy of Scale) ที่จะส่งผลต่อราคาของอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (Set-Top-Box : STB) และเครื่องรับโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (integrated Digital Television : IDTV) ทำให้ราคาที่เหมาะสมและไม่เกิดภาระแก่ประชาชนเกินควร ใช้สำหรับโทรทัศน์ดิจิตอล